แผนงาน/โครงการ ประจำปี 2549

โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเครือข่ายบริการสุขภาพ
CUP โรงพยาบาลสกลนคร ปี 2549

หลักการและเหตุผล
ระบบสารสนเทศนับว่ามีความสำคัญและเป็นหัวใจของการบริหารองค์การเป็นอย่างยิ่ง การที่จะบริหารจัดการองค์การให้บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การอย่างมีประสิทธิภาพนั้น บุคลากรทั่วทั้งองค์การและผู้บริหารทุกระดับจะต้องใช้ระบบสารสนเทศที่มีความเหมาะสม และได้ออกแบบให้เหมาะสมกับชนิดขององค์การ หากองค์การใดๆขาดการนำเอาแนวคิดเชิงระบบสารสนเทศมาบริหารจัดการองค์การนั้น จะมีการได้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ กล่าวคือ นอกจากจะทำให้กระบวนการปฏิบัติงานล่าช้าแล้วนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้บริหารขาดสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพนำมาใช้ในการตัดสินใจบริหารจัดการองค์การ ซึ่งในท้ายที่สุดจะส่งผลให้การวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาจะไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้มารับบริการได้
การพัฒนาระบบสารสนเทศในงานสาธารณสุขได้มีการพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปของฐานข้อมูล การจัดการชุดคำสั่ง ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรในการจัดการระบบสารสนเทศ แต่ในการดำเนินการที่ผ่านมายังมีปัญหาในเรื่องความสมบูรณ์และความไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้สารสนเทศและการตัดสินใจทางระบบ กล่าวคือ ระบบสารสนเทศที่ใช้ยังมุ่งพัฒนาเฉพาะในส่วนระบบการบริการ ยังขาดการบูรณาการกับระบบสนับสนุนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ระบบบริการมีคุณภาพ เมื่อระบบสารสนเทศไม่ครอบคลุมตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ ระบบที่ดำเนินการอยู่จึงเป็นเพียงเครื่องมือที่จัดการเรื่องระบบระเบียนรายงานเพียงเท่านั้น การประมวลผลและวิเคราะห์เพื่อนำไปตัดสินใจในการแก้ปัญหาเชิงระบบจึงเกิดขึ้นน้อยมาก ในขณะเดียวกันบุคลากรสาธารณสุขโดยทั่วไปยังเห็นความสำคัญต่อการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการน้อย จากปัญหาในภาพกว้างที่ได้ประมวลมานั้นเป็นฐานปัญหาที่หน่วยงานสาธารณสุขเผชิญอยู่ในขณะที่โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้มุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องสารสนเทศเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเป็นอย่างยิ่งการจัดการขึ้นทะเบียน การส่งผ่านข้อมูลไปยังเครือข่ายต่างๆในการรับบริการ ปัจจัยหลักในส่วนนี้หน่วยงานสาธารณสุขยังดำเนินการไม่เต็มที่นักจากเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว เครือข่ายบริการสุขภาพโรงพยาบาลสกลนคร ซึ่งมีหน่วยบริการเครือข่ายที่รับผิดชอบทั้งสิ้น 26 หน่วยงาน จึงมีแนวคิดการพัฒนาระบบสารสนเทศทั่วทั้งเครือข่ายที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารหรือชุดคำสั่งในฐานเดียวกันย่อมจะนำมาซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งในระบบสนับสนุนและระบบบริการ และเมื่อเครือข่ายบริการสุขภาพมีการจัดการเชิงระบบจะเป็นหน่วยบริการสุขภาพที่เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูประบบสุขภาพได้ในอนาคตอันใกล้


จุดมุ่งหมายโครงการ
เครือข่ายบริการสุขภาพโรงพยาบาลสกลนครมีระบบสารสนเทศที่ครอบคลุมทั้งระบบสนับสนุนและระบบบริการที่มีประสิทธิภาพสามารถนำมาบริหารจัดการให้ตอบสนองต่อการจัดการปัญหาและความต้องการระบบสุขภาพในพื้นที่ได้


วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศของเครือข่ายบริการสุขภาพโรงพยาบาลสกลนคร
2.เพื่อให้เครือข่ายบริการสุขภาพโรงพยาบาลสกลนครมีระบบสารสนเทศที่ครอบคลุมทั้งระบบสนับสนุนและระบบบริการที่มีประสิทธิภาพให้ทั่วทั้งเครือข่าย 3. เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขในเครือข่ายบริการสุขภาพโรงพยาบาลสกลนครมีความรู้ความเข้าใจ มีทัศนคติที่ดีและสามารถปฏิบัติการในระบบสารสนเทศในอันนำมาให้บริการจัดการระบบงานสุขภาพในพื้นที่ได้

เป้าหมาย
1. พัฒนาระบบฐานข้อมูลโปรแกรมฐานข้อมูลสถานีอนามัย (HCIS) ให้มีประสิทธิภาพ มีการใช้และนำส่ง ข้อมูลบริการสุขภาพได้ครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลา ร้อยละ 100
2. จัดหาชุดโปรแกรมสำเร็จรูป (Software) ที่ครอบคลุมทั้งระบบสนับสนุนและระบบบริการ จำนวน 1 ชุด
3. จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแก่บุคลากรสาธารณสุขในเครือข่ายทุกคน จำนวน 110 คน
4. จัดทำ Web site เพื่อรองรับระบบรายงานและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศของ CUP เมืองสกลนคร

วิธีดำเนินการ
การเตรียมการ
1. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการบุคลากรสาธารณสุขทั่วทั้งเครือข่ายเพื่อระดมสมอง หาข้อสรุปปัญหาในการดำเนินการระบบสารสนเทศที่ผ่านมา และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันรวมถึงความเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มในการจัดการระบบสารสนเทศที่จะต้องใช้ในเครือข่ายในอนาคต 2. นำข้อสรุปที่ได้จากข้อ 1 มาจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบสารสนเทศเครือข่ายบริการสุขภาพ
3. ศึกษาและสำรวจข้อมูลราคาและการบริการในการจัดการทั้งระบบคอมพิวเตอร์ ชุดคำสั่ง และการฝึกอบรม
4. นำเสนอแผนปฏิบัติการแก่คณะกรรมการบริหารเครือข่ายบริการสุขภาพเพื่อขออนุมัติแผนปฏิบัติการ

การดำเนินการ
1.จัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศเครือข่ายบริการสุขภาพเพื่อให้มีหน้าที่ในการจัดการเชิงระบบในงานพัฒนาระบบสารสนเทศทั่วทั้งเครือข่าย
2.พัฒนาและดูแลระบบฐานข้อมูลสถานีอนามัย (HCIS) ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในสถานีอนามัย จำนวน 26 แห่ง
3. จัดทำชุดโปรแกรมสำเร็จรูปโดยบริหารจัดการตามระเบียบการพัสดุ จำนวน 1 ชุด
4. สรรหาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อมาดูแลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งเครือข่ายให้สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
5. จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการบุคลากรผู้ปฏิบัติให้สามารถปฏิบัติตามชุดคำสั่ง ระยะเวลา 3 วัน จำนวน 30 คน
6. ทดลองใช้งานชุดโปรแกรมสำเร็จรูปที่พัฒนาใหม่ และพัฒนาให้สมบูรณ์เพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ
7. ประเมินประสิทธิภาพของชุดโปรแกรมสำเร็จรูป นำเสนอผล ประเมินผลที่ดำเนินงาน

สถานที่ดำเนินการ
สถานบริการเครือข่ายบริการสุขภาพโรงพยาบาลสกลนคร 26 แห่ง


ระยะเวลาดำเนินการ
ระหว่างเดือน กรกฎาคม ถึง ธันวาคม 2549

การประเมินผลโครงการ
1. จากประสิทธิภาพของโปรแกรมฐานข้อมูลสถานีอนามัย (HCIS) ในการการใช้บันทึกและนำส่งข้อมูลบริการสุขภาพได้ครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลา
2. ประสิทธิภาพของชุดโปรแกรมสำเร็จรูป (Software) ที่พัฒนาใช้ใหม่
3. จำนวนของบุคลากรสาธารณสุขที่สามารถใช้โปรแกรม HCIS
4. จาก Web site ของ CUP เมืองสกลนคร ที่จัดทำขึ้น

งบประมาณ
งบประมาณในการบริหารจัดการโครงการนี้เบิกจ่ายจากงบประมาณในโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำนวนทั้งสิ้น 134,600 บาท ( หนึ่งแสนสามหมื่นสี่พันหกร้อยบาทถ้วน ) โดยมีรายการค่าใช้จ่ายดังนี้
1. พัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลสถานีอนามัย (HCIS)
- ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ 7คนx200บาทx4วันx3เดือน เป็นเงิน 16,800 บาท
- อบรมพัฒนาผู้ใช้ 30คนx80บาท x2วัน เป็นเงิน 4,800 บาท
- ค่าวัสดุการอบรม เป็นเงิน 5,000 บาท
2. จัดทำโปรแกรมสำเร็จรูปใหม่ 1 ชุด
- ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ 7คนx200บาทx4วันx3เดือน เป็นเงิน 16,800 บาท
- ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ทดลองการใช้โปรแกรม 7คนx200บาทx4วันx2เดือน
เป็นเงิน 11,200 บาท
- อบรมผู้ใช้โปรแกรมใหม่ 30คนx80บาท x3วัน เป็นเงิน 7,200 บาท
- ค่าวัสดุการอบรม เป็นเงิน 5,000 บาท
- ค่าลิขสิทธิ์ GIS จำนวน 26 ชุดๆละ 2,000 บาท เป็นเงิน 52,000 บาท
3. จัดทำ Web site เพื่อรองรับระบบรายงานและประชาสัมพันธ์หน่วยงาน 1 ชุด
- ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ 3คนx200บาทx14วัน เป็นเงิน 8,400 บาท
- ค่าเช่าพื้นที่เพื่อเผยแพร่ Web site ทางอินเตอร์เน็ต เป็นเงิน 5,000 บาท
- อบรมการใช้ อินเตอร์เน็ตแก่บุคลากร 30คนx80บาท x1วัน เป็นเงิน 2,400 บาท


ประโยชน์ที่จะได้รับ
ประโยชน์ในขั้นต้นที่มีเครือข่ายบริการสุขภาพจะได้รับคือ มีระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมีระบบสารสนเทศที่ครอบคลุมทั้งระบบสนับสนุนและระบบบริการที่ประสิทธิภาพในการใช้จัดการระบบสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการลบเวลาในการจัดการระเบียนรายงาน การมีสารสนเทศที่ประสิทธิภาพพร้อมที่จะใช้ในการตัดสินใจได้ตลอดเวลาที่ต้องการประโยชน์ที่นอกเหนือจากนี้หากมีการคำนวนต้นทุนในระยะยาวแล้ว โครงการนี้จะทำให้ลดต้นทุนในการปฏิบัติงานในทุกด้านอย่างมาก ซึ่งจะเป็นแนวทางในการประหยัดงบประมาณของเครือข่ายบริการสุขภาพในอนาคตได้ อย่างไรก็ดีการที่จะทราบได้ว่าโครงการนี้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดจะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ในทางการเงิน ผลตอบแทนจากการลงทุน ระยะเวลาคืนทุน และรายงานการประเมินผลโครงการ และประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังนี้
1. ระบบฐานข้อมูลโปรแกรมฐานข้อมูลสถานีอนามัย (HCIS) มีประสิทธิภาพ มีการใช้และนำส่ง ข้อมูลบริการ
สุขภาพได้ครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลา
2. ชุดโปรแกรมสำเร็จรูป (Software) ที่พัฒนาขึ้นมีความครอบคลุมทั้งระบบบริการ และระบบรายงาน
3. บุคลากรสาธารณสุขในเครือข่ายทุกคนมีความรู้ความสามารถในการใช้งานโปรแกรมฐานข้อมูลของ สถานีอนามัย
4. CUP เมืองสกลนคร มี Web site เพื่อรองรับระบบรายงานและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสารสนเทศของ CUP

ผู้รับผิดชอบ
คณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศเครือข่ายบริการสุขภาพโรงพยาบาลสกลนคร

ผู้จัดทำโครงการ

( นายไชยา ชาศรี )
นักวิชาการสาธารณสุข 5

( นายคำนึง แก้วเวียงเดช )
เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน 6


ผู้เห็นชอบโครงการ

(นายเมธี ปัญญารัตน์)
สาธารณสุขอำเภอเมืองสกลนคร

(นายเรืองศักดิ์ ใครบุตร)
นายแพทย์ 8 หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม

ผู้อนุมัติโครงการ

(นายพิชาติ ดลเฉลิมยุทธนา)
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนคร